15 ก.พ. 2562
๑. ที่มาและความสำคัญ
๑.๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๑๓ ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา ๒๗๙ ได้กำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม ที่กำหนดขึ้น โดยจะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๒ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ โดยหมวด ๓ กลไกและระบบการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมข้อ ๑๔ กำหนดให้ ก.พ. โดยคำแนะนำของหัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการขึ้น เพื่อควบคุมกำกับให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้
๑.๓ ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการ เช่น การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบ การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็วมีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น
๒. หน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรม
หมวด ๓ ข้อ ๑๕ ของประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ได้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรม ดังนี้
๒.๑ ควบคุม กำกับ ส่งเสริม และให้คำแนะนำในการใช้บังคับประมวลจริยธรรมนี้ในส่วนราชการ
๒.๒ สอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมในส่วนราชการ ในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือมีข้อร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนจริยธรรม ให้ส่งเรื่องให้หัวหน้าส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้โดยเร็ว
๒.๓ พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกิดจากการใช้บังคับประมวลจริยธรรมนี้ในส่วนราชการ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วให้ส่งคำวินิจฉัยให้ ก.พ. โดยพลัน ถ้า ก.พ. มิได้มีการวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ก.พ. รับเรื่อง ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรมเป็นที่สุด
๒.๔ ส่งเรื่องให้ ก.พ. พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญหรือมีผลกระทบในวงกว้างหลายส่วนราชการ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของ ก.พ. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน
๒.๕ คุ้มครองและประกันความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมของส่วนราชการ
๒.๖ คุ้มครองข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้อย่างตรงไปตรงมา มิให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการผู้นั้น
๒.๗ เสนอผลการประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้ของส่วนราชการต่อ ก.พ. และประเมินผลการปฏิบัติงานของกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมของส่วนราชการเพื่อเสนอหัวหน้าส่วนราชการเพื่อประกอบการเลื่อนเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่งข้าราชการในกลุ่มงาน
๒.๘ เสนอแนะการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลจริยธรรมนี้ หรือการอื่นที่เห็นสมควรต่อ ก.พ.
๒.๙ ดำเนินการอื่นตามประมวลจริยธรรมนี้ หรือตามที่ ก.พ. มอบหมาย
๓. องค์ประกอบของคณะกรรมการจริยธรรม
หมวด ๓ ข้อ ๑๔ ของประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ได้กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการจริยธรรม ดังนี้
๓.๑ ประธานกรรมการจริยธรรม จำนวน ๑ คน ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการเสนอโดยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และผู้มีความซื่อสัตย์เป็นประจักษ์ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.
๓.๒ กรรมการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารหรือประเภทอำนวยการ จำนวน ๒ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารหรือประเภทอำนวยการด้วยกันเอง
๓.๓ กรรมการซึ่งเป็นข้าราชการในส่วนราชการ จำนวน ๒ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ
๓.๔ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก จำนวน ๒ คน ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการและรองหัวหน้าส่วนราชการร่วมกันเสนอ
ทั้งนี้ กรรมการจริยธรรมต้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย และเป็นผู้มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของส่วนราชการ
๔. วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการจริยธรรม
คณะกรรมการจริยธรรมมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี นับแต่วันที่ ก.พ. มีประกาศแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
๕. การพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการจริยธรรม
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามข้อ ๔. กรรมการจริยธรรมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
๑. ตาย
๒. ลาออก
๓. พ้นจากการเป็นข้าราชการ หรือพ้นจากตำแหน่งประเภทบริหารหรืออำนวยการสำหรับกรรมการตามข้อ ๓.๒
๔. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
๕. ถูกลงโทษทางวินัย
๖. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษจำคุก
๗. เป็นบุคคลล้มละลาย
๖. การสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงการต่างประเทศ
ลำดับ |
หลักเกณฑ์ตามประมวลจริยธรรมฯ ข้อ ๑๔ (๑) – (๔) |
วิธีการคัดเลือกกรรมการ |
||||||||||
องค์ประกอบ |
วิธีการสรรหา |
|||||||||||
๑ |
ประธานกรรมการ (๑ คน) |
ปลัดกระทรวงฯ เสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกผู้มีความซื่อสัตย์เป็นประจักษ์ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ. |
ปลัดกระทรวงฯ พิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม |
|||||||||
๒ |
กรรมการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารหรืออำนวยการ (๒ คน)
|
ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารหรืออำนวยการเลือกกันเอง ให้เหลือ ๒ คน |
(๑) ขอให้แต่ละกรม/หน่วยงานใน สป./สอท./สกญ./คผถ./สนง. การค้าและเศรษฐกิจไทย เสนอชื่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารหรืออำนวยการ ซึ่งปฏิบัติงาน ที่หน่วยงานใดก็ได้ที่ประสงค์จะให้เป็น “กรรมการฯ” จำนวน ๑ คน (๒) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วมการคัดเลือกเป็นกรรมการฯ (๓) ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารและอำนวยการ ออกเสียงลงคะแนน (Vote) ทางอิเล็กทรอนิกส์ (๔) ประกาศผลการลงคะแนน โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในลำดับที่ ๑ และ ๒ เป็นกรรมการ ทั้งนี้สามารถขึ้นบัญชีรายชื่อข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือกตามลำดับคะแนน โดยให้ขึ้นบัญชีเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการฯ (๒ ปี) |
|||||||||
๓ |
กรรมการซึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวงฯ (๒ คน) |
เป็นข้าราชการที่ได้รับคัดเลือกจากข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำของกระทรวงฯ |
(๑) ขอให้แต่ละกรม/หน่วยงานใน สป./สอท./สกญ./คผถ./สนง. การค้าและเศรษฐกิจไทย เสนอชื่อข้าราชการซึ่งปฏิบัติงานที่หน่วยงานใดก็ได้ ที่ประสงค์จะให้เป็น “กรรมการฯ” จำนวน ๑ คน (๒) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วมการคัดเลือกเป็นกรรมการฯ (๓) ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำของกระทรวงฯ ออกเสียงลงคะแนน (Vote) ทางอิเล็กทรอนิกส์ (๔) ประกาศผลการลงคะแนน โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในลำดับที่ ๑ และ ๒ เป็นกรรมการ ทั้งนี้สามารถขึ้นบัญชีรายชื่อข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือกตามลำดับคะแนน โดยให้ขึ้นบัญชีเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของ คณะกรรมการฯ (๒ ปี) |
|||||||||
๔ |
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก (๒ คน) |
ปลัดกระทรวงฯ และรองปลัดกระทรวงฯ ร่วมกันเสนอชื่อ |
ปลัดกระทรวงฯ และรองปลัดกระทรวงฯ พิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมร่วมกัน |
|||||||||
|
เลขานุการ (๑ คน) เป็นข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นขึ้นไป และทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม |
เสนอให้ปลัดกระทรวงฯ พิจารณา |
ไม่ต้องคัดเลือก ประกาศเป็นคำสั่งกระทรวงฯ |
๗. หลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์
๗.๑ ผู้ลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น และต้องกรอกข้อมูลในระบบให้ถูกต้องครบถ้วน หากกรอกข้อมูลไม่ครบหรือเลือกบุคคลเกินจำนวนที่กำหนดไว้ จะถือว่าเป็น “บัตรเสีย” โดยสามารถออกเสียงลงคะแนนได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒
๗.๒ ผู้ที่ได้รับการเลือกมากที่สุด ๒ ลำดับแรก ในแต่ละประเภท จะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการฯ และหากมีผู้ที่ได้รับการเลือกมากที่สุดใน ๒ ลำดับแรก ทั้งใน ๒ ประเภท บุคคลนั้นจะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการฯ ในประเภทตำแหน่งที่สูงกว่า และเลื่อนบุคคลที่ได้รับคะแนนรองลงมาแทน
๗.๓ ในกรณีที่มีผู้ได้รับการเลือกคะแนนเท่ากันมากกว่า ๒ คน จะใช้วิธีจับสลากโดยประธานกรรมการตรวจนับคะแนนในการสรรหากรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงฯ
๘. คณะกรรมการตรวจนับคะแนนในการสรรหากรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงฯ
คณะกรรมการตรวจนับคะแนนในการสรรหากรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงฯ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการและเลขานุการ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จากสำนักบริหารบุคคล และหน่วยงานอื่นภายในกระทรวงฯ รวมจำนวน ๕ คน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
๘.๑ ตรวจนับผลการลงคะแนนในการสรรหากรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงฯ
๘.๒ ตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนน
๘.๓ พิจารณาข้อยุติในกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับลักษณะของบัตรเสีย
๘.๔ หากมีผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ประธานกรรมการจับสลากชื่อผู้ได้คะแนนเท่ากันนั้นต่อหน้ากรรมการตรวจนับคะแนน เพื่อเรียงลำดับในบัญชีรายชื่อ
๘.๕ ลงชื่อรับรองผลการสรรหา
๘.๖ ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
๙. สรุปผล
เมื่อได้รับผลการคัดเลือกแล้ว จะต้องมีการดำเนินการดังนี้
๙.๑ นำผลสรุปของการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการจริยธรรมประเภทต่าง ๆ พร้อมสรุปคะแนนผลการคัดเลือกให้ปลัดกระทรวงฯ เพื่อพิจารณาและเสนอต่อสำนักงาน ก.พ. ให้ความเห็นชอบต่อไป
๙.๒ ส่งรายชื่อคณะกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงการต่างประเทศให้สำนักงาน ก.พ. พร้อมแนบแบบประวัติคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาแต่งตั้ง ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการอีกครั้งหนึ่ง
๙.๓ สำนักงาน ก.พ. จะประกาศแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็น “คณะกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงการต่างประเทศ” ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.
๑๐. การประกาศรายชื่อข้าราชการพลเรือนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงการต่างประเทศ
การดำเนินการคัดเลือกกรรมการตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ข้อ ๑๔ (๒) (๓) ได้เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงฯ เห็นชอบให้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในลำดับที่ ๑ - ๙ ของกรรมการทั้งสองประเภท คือ
๑๐.๑ กรรมการ : ประเภทข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารหรืออำนวยการ และ
๑๐.๒ กรรมการ : ประเภทข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใดก็ได้
รายละเอียดปรากฏตาม --->>> ประกาศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง รายชื่อข้าราชการพลเรือนที่ได้รับการคัดเลือก ให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการจริยธรรมประจำกระทรวงการต่างประเทศ