การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 46,633 view

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติฯ)
และประกาศที่เกี่ยวข้อง

                   1. ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
                  
1.1 ปลัดกระทรวงฯ อธิบดี ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
                   1.2 รองปลัดกระทรวงฯ รองอธิบดี ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  

                   2. การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมี 3 กรณี ดังนี้

                       2.1 กรณีเข้ารับตำแหน่ง
                       2.2 กรณีดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี หมายถึง ทุกสามปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่
ของรัฐ โดยให้นับระยะเวลา ดังนี้

                             2.2.1 กรณีผู้ยื่นบัญชีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทุกสามปีที่อยู่ในตำแหน่งตามกฎหมายฉบับเดิม[1] คือ ปลัดกระทรวงฯ อธิบดี ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทุกสามปีต่อไปนับแต่วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งล่าสุด
                             2.2.2 กรณีผู้ยื่นบัญชีไม่เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทุกสามปีที่อยู่ในตำแหน่งตามกฎหมายฉบับเดิม คือ รองปลัดกระทรวงฯ แต่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ทุกสามปีตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายฉบับใหม่[2] ให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทุกสามปีตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฯ ปี พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น รองปลัดกระทรวงฯ มีหน้าที่ยื่นบัญชีกรณีดำรงตำแหน่งทุกสามปีครั้งต่อไป คือ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564
                             2.2.3 กรณีผู้ยื่นบัญชีไม่เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามกฎหมายฉบับเดิม แต่เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ตามกฎหมายฉบับใหม่ คือ รองอธิบดี กำหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 2 ธันวาคม 2561 และครบกำหนดที่ต้องยื่นครบสามปี วันที่ 1 ธันวาคม 2564

                       2.3 กรณีพ้นจากตำแหน่ง หมายถึง เกษียณอายุราชการ ลาออก

หมายเหตุ – หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเคยดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว ผู้นั้นจะต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ทุกสามปีต่อไปจนกว่าจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เกษียณ/ลาออก) ถึงแม้ในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีการโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ก็ตาม                          

                       อาทิ เคยดำรงตำแหน่งอธิบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติฯ ต่อมาได้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีและเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ผู้นั้นยังคงมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯทุกสามปีนับจากวันที่มีคำสั่งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีต่อไปจนกว่าเกษียณอายุราชการ

                   3. กำหนดระยะเวลายื่นบัญชีฯ กล่าวคือ ให้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงในวันที่มีหน้าที่ในแต่ละกรณีโดยให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันที่มีหน้าที่

                   4. ทรัพย์สินที่ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน - ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนคู่สมรส[3] และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่มีอยู่จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศให้รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อาทิ ทรัพย์สินในกองมรดกที่ผู้จัดการมรดกครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก

                   5. การจัดทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ – กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ กรอกแบบฟอร์มตามรูปแบบที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งสามารถดาวน์โหลดโดยคลิก แบบฟอร์ม หรือที่เว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th > คลิกเมนู แบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ซึ่งระบุให้แสดงรายการทรัพย์สิน 9 รายการ และหนี้สิน 4 รายการ พร้อมทั้งเอกสารประกอบ

                   6. เอกสารที่ต้องยื่น

                       6.1 แบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน  
                       6.2 เอกสารประกอบรายการทรัพย์สินแต่ละประเภท
                       6.3 สำเนาหลักฐานแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
                       เอกสารที่ยื่น ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ทุกแผ่นทุกหน้า (แบบบัญชี และสำเนาที่ยื่นฯ) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ให้ยื่นจำนวน 1 ชุด เว้นแต่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ และอธิบดี (ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง) ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและ
เอกสารประกอบ จำนวน 2 ชุด หนึ่งชุดเป็นต้นฉบับ อีกชุดหนึ่งเป็นสำเนาคู่ฉบับ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และเอกสารประกอบ ให้ประชาชนได้ทราบ โดยในเบื้องต้นให้ผู้ยื่นบัญชี ปกปิดข้อความ ในสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดดังนี้

ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ (1) เลขประจำตัวประชาชน (2) วัน เดือน ปีเกิด (3) ที่อยู่ (ปิดเฉพาะเลขที่บ้าน แต่ให้เปิดที่ตั้ง ตำบล อำเภอ) (4) หมายเลขโทรศัพท์บ้าน และหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ (5) อีเมล์

รายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน ได้แก่ เลขที่บัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน

รายละเอียดอื่น ๆ ได้แก่ (1) เลขประจำตัวประชาชน ผู้กู้ยืม (2) เลขประจำตัวประชาชน ผู้ให้กู้ (3) ภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น (4) หมายเลขบัตรเครดิต


                   7. ช่องทางการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
                       7.1 ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นแทน ได้ที่
                                สำนักพัฒนาระบบตรวจสอบทรัพย์สิน อาคาร 4 ชั้น 1
                                สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ ตำบลท่าทราย
                                อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

                      7.2 ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

                       กราบเรียน
                             ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
                             สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถ. นนทบุรี
                             อ. เมืองนนทบุรี จ. นนทบุรี 11000

 

(ผู้ยื่นชื่อ...............ชื่อสกุล....................ตำแหน่ง................................กรณีที่ยื่น........................)

 

 

----------------------------------------------------------------------------------------------

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่... สำนักงาน ป.ป.ช.
เบอร์ติดต่อ 02 – 528 -4800 ติดต่อภายใน 4437, 4441 (คุณวรัญฯ)

---------------------------------------------------------------------------------------------



[1] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

[3] คู่สมรส ให้หมายความรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด