คอร์รัปชันกับสังคมไทย: วาทกรรมโลกเสรีนิยมใหม่กับหนทางแก้ไขที่ขวางต้านประชาธิปไตย โดยนายกุลชาติ ทักษไพบูลย์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คอร์รัปชันกับสังคมไทย: วาทกรรมโลกเสรีนิยมใหม่กับหนทางแก้ไขที่ขวางต้านประชาธิปไตย โดยนายกุลชาติ ทักษไพบูลย์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 10,061 view

           รัฐศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “คอร์รัปชันกับสังคมไทย: วาทกรรมโลกเสรีนิยมใหม่กับหนทางแก้ไขที่ขวางต้านประชาธิปไตย” โดยนายกุลชาติ ทักษไพบูลย์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปได้ดังนี้

           คอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของการเมืองไทยที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอทั้งในฐานะสาเหตุและผลลัพธ์ของการกระทำทางการเมือง ซึ่งการคอร์รัปชันไม่เพียงแต่จะเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย แต่ยังส่งผลเชิงลบต่อการพัฒนาประเทศในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ ดังนั้น ปัญหาคอร์รัปชันจึงผูกพันแนบแน่นกับการก่อร่างสำนึกทางการเมืองของประชาชน

          คำว่า “คอร์รัปชัน” มีความหมายกว้าง ยากที่จะหาคำนิยามที่อธิบายได้อย่างรัดกุมและชัดเจน งานศึกษาทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันจึงมีมุมมอง ทัศนะ ตลอดถึงวิธีการอธิบายต่างกันไปตามกรอบการมองปัญหาหรือชุดเครื่องมือที่ใช้ศึกษา อาทิ มุมมองต่อคอร์รัปชันด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ แง่มุมทางกฎหมาย ศีลธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ดี มีจุดร่วมที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การมีมุมมองต่อคอร์รัปชันที่สื่อความหมายถึงการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้ที่อาศัยกรอบแนวคิดเรื่องวาทกรรม (discourse) ของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ในการกล่าวถึงคอร์รัปชันฐานะที่เป็นวาทกรรมหรือความจริง   ที่ขึ้นอยู่และเปลี่ยนแปรไปตามบริบทการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมองว่าคอร์รัปชันมิใช่ปัญหาโดยธรรมชาติ แต่ถูกทำให้เป็นปัญหาขึ้นภายใต้เงื่อนไขกฎเกณฑ์และภาคปฎิบัติการของวาทกรรมอันเกี่ยวพันอยู่กับจารีตปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ คุณค่าและสถาบันต่าง ๆ ทางสังคม อีกทั้งยังไม่สามารถแยกขาดออกจากอำนาจ และความรู้

           แม้ความคิดเรื่องคอร์รัปชันจะมีมายาวนานควบคู่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่การกล่าวถึงคอร์รัปชันในความหมายสมัยใหม่ที่สื่อถึงการกระทำทุจริตเบียดบังทรัพยากรส่วนรวม หรืออาศัยกลไกสาธารณะในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง เพิ่งเริ่มมีการศึกษาอย่างเป็นวิชาการในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่าประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาล้วนต้องเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างรุนแรงหากเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้น องค์กรที่สำคัญ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และธนาคารโลก (World Bank) ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เรื่องคอร์รัปชันเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศในฐานะปัญหาใจกลางของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยองค์กรเหล่านี้ต่างมีกลไกเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้แต่ละประเทศต่อสู้เพื่อลดระดับปัญหาคอร์รัปชัน เสริมสร้างความโปร่งใส การแบ่งแยกอำนาจ หรือการคำนึงถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ

          UN เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้ประชาคมโลกต่อต้านคอร์รัปชันและลดปัญหาการติดสินบนในการดำเนินธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศนับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาคีสมาชิกและองค์กรต่าง ๆ เท่าใดนัก จนกลางคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ UN ได้ออกคำประกาศว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันและการติดสินบนในการดำเนินธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (UN Declaration against Corruption and Bribery in International Commercial Transactions, 1996) วาระเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันจึงได้ถูกผลักดันอย่างจริงจัง จนกระทั่งถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ ๒๐๐๐ วาระผลักดันของ UN ได้ขยับมาสู่การคำนึงถึงผลกระทบจากคอร์รัปชันต่อภาคส่วนสาธารณะและภาคเอกชน โดยทำให้เห็นว่าคอร์รัปชันส่งผลบั่นทอนต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางสังคม กัดกร่อนทำลายคุณค่าของประชาธิปไตย หลักนิติธรรม จริยธรรม ความยุติธรรม รวมถึงสวัสดิภาพของประชาชน

           IMF ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกก็ได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับการรณรงค์เรื่องของ good governance หรือธรรมาภิบาล ที่ครอบคลุมทั้งการสร้างหลักประกันในนิติธรรม การปรับปรุงประสิทธิภาพและความรับผิดชอบของภาคสาธารณะ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนองค์กรต่าง ๆ เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี หรือธนาคารโลกที่นำเรื่องการต่อสู้กับคอร์รัปชันเป็นส่วนสำคัญของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์

           องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-governmental organizations: NGOs) เป็นองค์กรอีกประเภทที่มีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันปัญหาคอร์รัปชันให้กลายเป็นที่รับรู้และกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะ ด้วยการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน อาทิ องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International: TI) มีความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจเอกชน ในการสนับสนุนการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันและได้จัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index – CPI) ด้วยการรวบรวมผลสำรวจหรือโพลล์ (polls) ของหลากหลายสำนักมาจัดอันดับภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงถึงอย่างกว้างขวาง

           ในประเทศไทยมุมมองต่อคอร์รัปชันในอดีตเป็นสิ่งที่ผูกโยงอยู่กับคุณภาพของตัวผู้ปกครองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล โดยคอร์รัปชันหมายถึงการเบี่ยงเบนไปจากปทัสถาน (norms) ทางศีลธรรม คุณธรรม หรือจริยธรรมในตัวผู้ปกครองภายใต้บริบทแวดล้อมของสังคมการเมือง ต่อมา ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการรับแนวคิดเรื่อง “good governance” หรือธรรมาภิบาลมาบรรจุไว้ ซึ่งมุ่งส่งเสริมองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การทำงานอย่างมีหลักการและมีความสามารถในการตรวจสอบเอาผิดได้ (accountability) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) สามารถคาดการณ์ได้ (predictability) มีความโปร่งใส (transparency) ยึดถือหลักนิติธรรม (rule of law) และมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง (civil society)

          ผู้เขียนบทความมีความเห็นว่า แม้ว่าปัญหาคอร์รัปชันที่ถูกพูดถึงในปัจจุบันเป็นปัญหาที่คำนึงถึงผลกระทบต่อภาคสาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งแนวทางการแก้ไขป้องกันจะต้องมีกลไกของระบบราชการสมัยใหม่ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการมีระบอบการปกครองที่ยึดโยงอยู่กับสาธารณะหรือประชาชน ซึ่งก็คือระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักประกันในเรื่องความสามารถตรวจสอบเอาผิดได้ในทางการเมือง แต่ในหลายรอบทศวรรษที่ผ่านมา วาทกรรมทางการเมืองเรื่องคอร์รัปชันได้ฉายภาพให้คอร์รัปชันเสมือนโรคเรื้อรังที่ผูกติดอยู่กับระบอบการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งได้หล่อหลอมสำนึกคิดของคนจำนวนหนึ่งว่า การเมืองผ่านการเลือกตั้งไม่สามารถหลีกหนีพ้นจากวงจรของนักการเมืองผู้ฉ้อฉล ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้หันหลังให้กับระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง โดยกลับไปฝากความหวังต่อการบริหารพัฒนาชาติบ้านเมือง รวมทั้งแนวทางการขจัดปัญหาคอร์รัปชันอันสะท้อนถึงวิธีคิดในรูปแบบของรัฐโบราณด้วยการเสาะแสวงหา “คนดี” มาเป็นผู้ปกครอง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้ปัญหาคอร์รัปชันหมดสิ้นไปได้ แต่แนวทางที่สำคัญ คือ การพยายามปลูกสร้างให้ผู้คนมีจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวมหรือหวงแหนต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันยึดถือหลัก “ความเสมอภาค” ของประชาชน

สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ รัฐศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๑ (มกราคม – เมษายน ๒๕๖๑): หน้า ๘๙ – ๑๑๘ หัวข้อ “คอร์รัปชันกับสังคมไทย: วาทกรรมโลกเสรีนิยมใหม่กับหนทางแก้ไขที่ขวางต้านประชาธิปไตย” โดยกุลชาติ ทักษไพบูลย์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์