คนกับธรรมาภิบาล บทสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

คนกับธรรมาภิบาล บทสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,882 view

          เมื่อปี ๒๕๕๖ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า (Thaipublica) ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “จับชีพจรประเทศไทย” ซึ่งมีบทสัมภาษณ์นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน มีสาระสำคัญในเรื่องคนกับธรรมาภิบาลมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยมีเนื้อหาดังนี้

          “คน” ถือเป็นต้นเหตุแห่งทุกเรื่องราวในโลก และจัดได้ว่าเป็นคำตอบสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาทั้งปวง คนที่มีคุณภาพนอกจากมีความรู้ ยังมีสติและคุณธรรม จัดเป็นกลุ่มคนที่สร้างปัญหาน้อยที่สุด ประเทศไทยจะอยู่รอดปลอดภัยและเจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยปัจจัยของคนในชาตินี่เอง คือการมีประชากรที่เป็นคนคุณภาพเป็นส่วนใหญ่ และยิ่งผู้นำของประเทศเป็นคนที่เปี่ยมด้วยคุณภาพแล้ว ทุกปัญหาที่เราบ่น ๆ กัน เป็นทุกข์เป็นร้อนกันก็จะบรรเทาน้อยลง ถึงขั้นที่อาจจะไม่เกิดซ้ำซากขึ้นอีกได้ ฉะนั้นหนทางเดียวสำหรับประเทศไทยที่จะมีพื้นฐานที่มั่นคงในการเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จพอควรในทุก ๆ ด้านก็คือ การปลูกฝังชนส่วนใหญ่ของประเทศให้เจริญวัยเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของสังคม โดยมีความรู้คู่คุณธรรมเป็นที่ตั้ง การศึกษาที่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการพัฒนาเยาวชนให้เติบใหญ่ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนยากเย็น ขอเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจและจริงจังในเรื่องนี้ รู้จักการบริหารจัดการที่ดี และโปร่งใสในการใช้เงินงบประมาณอย่างฉลาด ซึ่งผลจากการนี้จะช่วยให้ไทยมีระบบการศึกษาที่ยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาการปฏิรูปอยู่บ่อยครั้งอย่างที่ทำอยู่

          ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าต้องไม่มุ่งเพียงสร้างคนเก่งทางวิทยาการแต่อย่างเดียว คนเก่งที่คิดเอาเปรียบคนอื่นจนถึงขั้นคิดอ่านคอร์รัปชันในภายหลัง ย่อมไม่ใช่ทรัพยากรบุคคลที่ดีของชาติ ต้องวางพื้นฐานทางใจแก่เด็กไทยในวัยที่เป็นไม้อ่อนเป็นเบื้องแรก จิตสำนึกที่ดีจะนำร่องไปสู่การเรียนรู้ทางปัญญาให้แก่เด็กเอง และความฉลาดรู้ด้วยใจจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่คิดเผื่อแผ่ถึงคนอื่น สัญชาตญาณในการคิด ช่วยเหลือผู้อื่นก็จะมีตามมาเป็นจิตสาธารณะ ซึ่งจะมีคุณค่าอย่างสูงเมื่อเด็ก ๆ โตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่มีคุณภาพที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้ผ่านการเรียนรู้ปลูกฝังความรู้คู่คุณธรรมมาแต่ต้นมือ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดความสามัคคีเอื้ออาทรระหว่างชนในชาติมากขึ้น คนที่มีคุณภาพยังจะช่วยดูแลอนาคตของประเทศสืบต่อไปอย่างมีคุณค่า ลดโอกาสและปัญหาของไทยในการเป็น  a nation in decline ได้อย่างมากด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันกับที่สร้างคนมีคุณภาพให้แก่ประเทศด้วยการดูแลไม้อ่อนของชาติด้วยใจและด้วยกระบวนการที่ไม่สลับซับซ้อนแล้ว จำเป็นอย่างมากที่ผู้ใหญ่ในปัจจุบันหรือไม้แก่ของวันนี้ จะได้รับการส่งเสริมให้รู้จักและปฏิบัติเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล (ทั้ง Corporate Governance – CG และ Good Governance – GG) อย่างจริงจังและจริงใจด้วย ไม่มีประเทศใดที่จะอดทนรับการกล่าวขวัญอย่างดูแคลนว่าเป็นชาติที่โกงกิน เพราะเท่ากับหมดสิ้นแล้วซึ่งศักดิ์ศรีของชาติและชนในชาติ แต่นักธุรกิจต่างชาติที่ได้รับประโยชน์จากการโกงกินเพราะสามารถซื้อความสะดวกคล่องตัวจากเจ้าหน้าที่ อาจจะป้อยอชื่นชม (ต้องระวังไม่หลงกับคารมชวนเหลิงเหล่านั้น รู้ดีกันในหมู่ต่างชาติว่าคนไทยชอบคำชมและจะหลงกับคำชมของต่างชาติได้ง่ายโดยไม่แยกแยะนัก) การขาด GG และ CG ในสังคมโดยเฉพาะในวงการธุรกิจอาชีพ จะเป็นการซ้ำเติมให้ประเทศอ่อนแอลง การรณรงค์ให้เด็ก ๆ กล่าวแสดงความน่ารังเกียจของคอร์รัปชันที่ปรากฏในสื่อโทรทัศน์ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีต่อเนื่อง และทุกช่องของฟรีทีวีควรสนับสนุนให้เวลาการออกอากาศของกรณีคอร์รัปชันที่ชัดเจน คำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการควรได้รับการป่าวประกาศและกล่าวถึงอย่างกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นบทเรียนของสังคมให้รับรู้ทั่วกันว่า ข้าราชการหรือนักการเมืองที่โกงกินมีความน่ารังเกียจต้องถูกลงโทษ และเรื่องประเภทนี้ควรได้รับการถ่ายทอดตามควรในแบบเรียนของเด็กไทยด้วย ยิ่งสามารถนำเสนอเป็นวาระแห่งชาติได้ด้วยก็จะยิ่งมีน้ำหนักในการป้องปรามพฤติกรรมฉ้อฉลโกงกินของคนเหล่านี้ด้วย พร้อมกันนั้น ผู้นำและนักการเมืองตลอดจนข้าราชการระดับต่าง ๆ จำเป็นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้แก่ประชาชนในการดำรงคุณธรรม เป็นตัวอย่างที่ดี มีความโปร่งใสมือสะอาดและคิดถึงสังคมส่วนร่วมอย่างแท้จริง

          ขณะเดียวกัน สิ่งที่พึงสนับสนุนให้ปฏิบัติเสมือนเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของการส่งเสริม CG ก็คือ กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) ที่บัดนี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ในทุกระดับและทุกหมู่เหล่า ไม่เฉพาะในวงการบริษัทเอกชน ในทุกส่วนของภาครัฐเองหรือจะเป็นกิจกรรมเฉพาะตัวคนก็สามารถถือปฏิบัติได้โดยไม่มีข้อจำกัด กิจกรรม CSR นั้น หากทำบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องและแข็งขันจะเป็นการเสริมพลังจิตสำนึกและจิตสาธารณะของคนได้อย่างมาก ซึ่งจะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกภาคส่วนของสังคมและของชาติ

ที่มาข้อมูล

มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา และ Thaipublica. (๒๕๕๖). จับชีพจรประเทศไทย A Nation in Decline? กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.