แนะนำหนังสือ "การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สร้างคนดีสู่สังคม"

แนะนำหนังสือ "การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สร้างคนดีสู่สังคม"

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 13,565 view

สรุปสาระสำคัญที่ได้รับจากหนังสือ

เรื่อง “การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สร้างคนดีสู่สังคม”

จัดทำโดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

 

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

          คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติในฐานะผู้ดำเนินงานแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติมีนโยบายจัดทำหนังสือเล่มนี้ เพื่อแปลงหลักแนวคิดคุณธรรม ๔ ประการ (พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา) สู่การปฏิบัติ และเพื่อเผยแพร่ให้ผู้บริหารหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงได้มอบหมายให้กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ รวบรวมข้อมูล หลักการ แนวคิด สาระสำคัญตามหลักการและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วประมวลเรียบเรียงเป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

 

สรุปสาระสำคัญที่ได้รับ

          ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรมมาโดยตลอด และมุ่งมั่นส่งเสริมให้พสกนิกรชาวไทยเป็นคนดีมีคุณธรรมผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ และได้พระราชทาน “ศาสตร์พระราชา” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกร และทรงเป็นต้นแบบแห่งคุณธรรม ศูนย์รวมความศรัทธา และแรงบันดาลใจของการสร้างคนดีสู่สังคม ซึ่งล้วนนำมาใช้เป็นแนวทางในการปลูกฝัง ส่งเสริม คุณธรรม        ในใจคนและสังคมได้ ดังนี้ 

คุณธรรมนำการพัฒนา

          การสร้างคนดี สังคมดี เพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องใช้ “คุณธรรมนำการพัฒนา” คือ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านจิตใจ ทุกสถาบันในสังคมต้องร่วมมือกันบ่มเพาะ ปลูกฝัง ส่งเสริมให้คนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี มีคุณธรรมเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต

          “คุณธรรม” (Virtue) หมายถึง สภาพความดีที่เกิดขึ้นในจิตใจของคน และแสดงออกเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ดีจนเคยชินก่อให้เกิดประโยชน์สุขในสังคม คุณธรรมระดับบุคคลแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้

          (๑) คุณธรรมที่เป็นปัจจัยผลักดัน ทำให้คนเกิดความเพียรพยายามทำในสิ่งที่มุ่งหมายไว้ให้สำเร็จ ประกอบด้วย วินัย อดทน ขยัน

          (๒) คุณธรรมที่เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยง สร้างแรงผลักดันให้เกิดคุณธรรม ประกอบด้วย ซื่อสัตย์ ซื่อตรง รับผิดชอบ

          (๓) คุณธรรมที่เป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้คนทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประกอบด้วย มีสติ พอเพียง

          (๔) คุณธรรมที่เป็นปัจจัยสนับสนุน ให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนรวม ประกอบด้วย เมตตา กรุณา กตัญญู เสียสละ

          นอกจากคุณธรรมระดับบุคคล ยังมีคุณธรรมของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งมีหลักการสำคัญ ๒ ข้อ ได้แก่

          (๑) ข้อห้าม คือ ห้ามทำให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีความทุกข์

          (๒) ข้อพึงปฏิบัติ คือ ให้ทำให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีความสุข

 

ทำไมต้องพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา

          คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติได้พิจารณาคัดเลือกคุณธรรมเป้าหมายที่จะรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดกับคนไทยในช่วงต้นของแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรม ๔ ด้าน ดังนี้

          “พอเพียง” เป็นศาสตร์พระราชาและเป็นคุณธรรมฐานรากที่จะนำไปสู่คุณธรรมอื่น ๆ มีความหมายถึง ความพอเพียงในการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง มีเหตุมีผล ใช้ความรู้ในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ มีความพอประมาณ พอดี ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ประมาท สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง คุณลักษณะของ “คนหัวใจพอเพียง” ได้แก่ ไม่เป็นผู้บริโภคนิยมหรือวัตถุนิยม มีความใฝ่รู้ รักษาคำพูดและซื่อสัตย์ ฝึกฝน แก้ไข ปรับปรุงตน ขยัน อดทน และมีความเพียร เสียสละและเอื้ออาทรต่อผู้อื่นเสมอ

          “วินัย” เพื่อเสริมสร้างการประพฤติปฏิบัติตนของคนไทยให้มีความเข้มแข็ง เคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน มีความหมายถึงการยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ทั้งวินัยต่อตนเองในการผลักดันชีวิตให้ก้าวหน้า วินัยต่อองค์กร สังคม ปฏิบัติตามจริยธรรม จรรยาบรรณ และเคารพต่อกฎหมาย ซึ่งควรมีทั้งวินัยในตนเอง และวินัยเพื่อส่วนรวมด้วย “คนมีวินัยในตนเอง” อาทิ รู้จักวางแผนและแบ่งเวลาเป็น เปิดใจรับทุกคำแนะนำ หรือคำติชม และนำความผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไข

          “สุจริต” เพื่อแก้วิกฤติการทุจริตที่ต้นทาง มีความหมายถึงความซื่อตรง ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่น ยืนหยัดในการรักษาความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมทั้งปวง กล้าปฏิเสธการกระทำที่ไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ของบุคคลอื่นที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม การแก้ปัญหาการทุจริตให้ได้ผลจะต้องปลูกฝังให้คนในสังคมเห็นคุณค่าของความสุจริต ซื่อตรง ซื่อสัตย์ มีระบบและกระบวนการหล่อหลอมขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่เด็ก ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคม

          “จิตอาสา” เพื่อให้คนไทยใส่ใจสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง มีความหมายถึง การเป็นผู้ที่ใส่ใจ ต่อสังคมสาธารณะและอาสาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิใช่หน้าที่ของตน ด้วยความรัก ความสามัคคี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ของสังคม และของประเทศชาติ โดยมิได้หวังผลตอบแทน ทำความดีเพื่อความดี เอื้ออาทร ต่อคนร่วมสังคม ทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย

 

สามารถอ่านหนังสือฉบับเต็มได้ที่ link นี้ http://dl.moralcenter.or.th/index.php?option=com_booklibrary&task=view_bl&tab=getmybooksTab&is_show_data=1&id=420&catid=55&Itemid=123

สามารถอื่นหนังสือ/บทความอื่น ๆ ได้ ที่เว็บไซต์ “ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)” http://www.moralcenter.or.th/

 

* * * * * * * * * * * * * * * * *