การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.ค. 2567

| 57,914 view

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติฯ)
และประกาศที่เกี่ยวข้อง

                   1. ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
                     
1.1 ปลัดกระทรวงฯ อธิบดี ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
                      1.2 รองปลัดกระทรวงฯ รองอธิบดี ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  

                   2. การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมี 3 กรณี ดังนี้
                       2.1 กรณีเข้ารับตำแหน่ง ให้ยื่นบัญชีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง 
                       2.2 กรณีดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี ให้ยื่นบัญชีฯ ทุก ๆ สามปี จนเกษียณอายุหรือลาออก**                               
                             ** โดยหากท่านเคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่ต้องยื่นบัญชีฯ เช่น ปลัดกระทรวงฯ รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดี หรือรองอธิบดี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอื่น เช่น เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ หรืออัครราชทูต เป็นต้นก็จะเข้าข่ายมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ต่อไป คือ ยื่นบัญชีฯ ทุก ๆ สามปี จนเกษียณอายุหรือลาออกจากราชการ และเมื่อพ้นจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุหรือลาออกจากราชการ ก็มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ อีกครั้ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันพ้นจากราชการ (เกษียณอายุหรือลาออก) ด้วย **   
                       2.3 กรณีพ้นจากราชการ หมายถึง เกษียณอายุราชการหรือลาออก ให้ยื่นบัญชีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันที่พ้นจากราชการ

                   3. ทรัพย์สินที่ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน- ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนคู่สมรส[1] และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่มีอยู่จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศให้รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อาทิ ทรัพย์สินในกองมรดกที่ผู้จัดการมรดกครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก

                   4. การจัดทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ– กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ กรอกแบบฟอร์มตามรูปแบบที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งสามารถดาวน์โหลดโดยคลิกแบบฟอร์ม หรือที่เว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช.www.nacc.go.th> คลิกหัวข้อ“ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน” เมนู FAQ“แบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน”ซึ่งระบุให้แสดงรายการทรัพย์สิน
9 รายการ และหนี้สิน 4 รายการ พร้อมทั้งเอกสารประกอบ 

                   5. เอกสารที่ต้องยื่น
                       5.1 แบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน  
                       5.2 เอกสารประกอบรายการทรัพย์สินแต่ละประเภท
                       5.3 สำเนาหลักฐานแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
                       เอกสารที่ยื่น ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ทุกแผ่นทุกหน้า (แบบบัญชี และสำเนาที่ยื่นฯ) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ให้ยื่นจำนวน 1 ชุด เว้นแต่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ และอธิบดี (ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง) ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ จำนวน 2 ชุด หนึ่งชุดเป็นต้นฉบับ อีกชุดหนึ่งเป็นสำเนาคู่ฉบับ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และเอกสารประกอบ ให้ประชาชนได้ทราบ โดยในเบื้องต้นให้ผู้ยื่นบัญชี ปกปิดข้อความ ในสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดดังนี้

ข้อมูลส่วนบุคคล 
(1) เลขประจำตัวประชาชน
(2) วัน เดือน ปีเกิด
(3) ที่อยู่ (ปิดเฉพาะเลขที่บ้าน แต่ให้เปิดที่ตั้ง ตำบล อำเภอ)
(4) หมายเลขโทรศัพท์บ้าน และหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่
(5) อีเมล์

รายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน 
(1) เลขที่บัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน

รายละเอียดอื่น ๆ 
(1) เลขประจำตัวประชาชน ผู้กู้ยืม
(2) เลขประจำตัวประชาชน ผู้ให้กู้
(3) ภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น
(4) หมายเลขบัตรเครดิต


                   6. ช่องทางการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
                       6.1 ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นแทน ได้ที่
                              - สำนักพัฒนาระบบและตรวจสอบทรัพย์สิน อาคาร 4 ชั้น 1
                                สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ ตำบลท่าทราย
                                อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
                              - สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด

                      6.2 ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

                        messageImage_1720512567826

                      6.3 ยื่นด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (http://asset.nacc.go.th/ods-app

                  7. การขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
                      ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ยื่นบัญชีอาจยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ โดยจัดทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุรายละเอียด
ดังต่อไปนี้
                       (1) ชื่อตัวและชื่อสกุล ของผู้ยื่นบัญชี
                       (2) ตำแหน่งที่ยื่น
                       (3) ยื่นบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกรณีที่ดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี แล้วแต่กรณี
                       (4) วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชี
                       (5) เหตุผลและความจำเป็น

                       ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะอนุญาตขยายระยะเวลาหรือไม่ก็ได้ การขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และจะขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้เพียงครั้งเดียว

                  8. การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเกินกำหนดระยะเวลา
                      กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบเกินกำหนดระยะเวลา ผู้ยื่นบัญชีต้องชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยจัดทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้
                      (1) ชื่อตัวและชื่อสกุล ของผู้ยื่นบัญชี
                      (2) ตำแหน่งที่ยื่น
                      (3) ยื่นบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกรณีที่ดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี แล้วแต่กรณี
                      (4) วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชี
                      (5) เหตุผลของการยื่นบัญชีล่าช้า

----------------------------------------------------------------------------------------------

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่... สำนักงาน ป.ป.ช.
เบอร์ติดต่อ 02 – 528 -4800 ติดต่อภายใน 7024 - 26

---------------------------------------------------------------------------------------------



[1] คู่สมรส ให้หมายความรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

 

จัดทำโดย

ส่วนวินัยและนิติการ สำนักบริหารบุคคล (ข้อมูล)
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) (เผยแพร่บนเว็บไซต์)
กระทรวงการต่างประเทศ

10 กรกฎาคม 2567