วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มี.ค. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.ค. 2567
การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติฯ)
และประกาศที่เกี่ยวข้อง
1. ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
1.1 ปลัดกระทรวงฯ อธิบดี ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
1.2 รองปลัดกระทรวงฯ รองอธิบดี ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
2. การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมี 3 กรณี ดังนี้
2.1 กรณีเข้ารับตำแหน่ง ให้ยื่นบัญชีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง
2.2 กรณีดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี ให้ยื่นบัญชีฯ ทุก ๆ สามปี จนเกษียณอายุหรือลาออก**
** โดยหากท่านเคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่ต้องยื่นบัญชีฯ เช่น ปลัดกระทรวงฯ รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดี หรือรองอธิบดี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอื่น เช่น เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ หรืออัครราชทูต เป็นต้นก็จะเข้าข่ายมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ต่อไป คือ ยื่นบัญชีฯ ทุก ๆ สามปี จนเกษียณอายุหรือลาออกจากราชการ และเมื่อพ้นจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุหรือลาออกจากราชการ ก็มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ อีกครั้ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันพ้นจากราชการ (เกษียณอายุหรือลาออก) ด้วย **
2.3 กรณีพ้นจากราชการ หมายถึง เกษียณอายุราชการหรือลาออก ให้ยื่นบัญชีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถัดจากวันที่พ้นจากราชการ
3. ทรัพย์สินที่ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน- ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนคู่สมรส[1] และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่มีอยู่จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศให้รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อาทิ ทรัพย์สินในกองมรดกที่ผู้จัดการมรดกครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก
4. การจัดทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ– กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ กรอกแบบฟอร์มตามรูปแบบที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งสามารถดาวน์โหลดโดยคลิกแบบฟอร์ม หรือที่เว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช.www.nacc.go.th> คลิกหัวข้อ“ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน” เมนู FAQ“แบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน”ซึ่งระบุให้แสดงรายการทรัพย์สิน
9 รายการ และหนี้สิน 4 รายการ พร้อมทั้งเอกสารประกอบ
5. เอกสารที่ต้องยื่น
5.1 แบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
5.2 เอกสารประกอบรายการทรัพย์สินแต่ละประเภท
5.3 สำเนาหลักฐานแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
เอกสารที่ยื่น ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ทุกแผ่นทุกหน้า (แบบบัญชี และสำเนาที่ยื่นฯ) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ให้ยื่นจำนวน 1 ชุด เว้นแต่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ และอธิบดี (ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง) ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ จำนวน 2 ชุด หนึ่งชุดเป็นต้นฉบับ อีกชุดหนึ่งเป็นสำเนาคู่ฉบับ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และเอกสารประกอบ ให้ประชาชนได้ทราบ โดยในเบื้องต้นให้ผู้ยื่นบัญชี ปกปิดข้อความ ในสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดดังนี้
ข้อมูลส่วนบุคคล รายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน รายละเอียดอื่น ๆ |
6. ช่องทางการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
6.1 ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นแทน ได้ที่
- สำนักพัฒนาระบบและตรวจสอบทรัพย์สิน อาคาร 4 ชั้น 1
สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ ตำบลท่าทราย
อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
- สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด
6.2 ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
6.3 ยื่นด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (http://asset.nacc.go.th/ods-app)
7. การขอขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ยื่นบัญชีอาจยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ โดยจัดทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุรายละเอียด
ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อตัวและชื่อสกุล ของผู้ยื่นบัญชี
(2) ตำแหน่งที่ยื่น
(3) ยื่นบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกรณีที่ดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี แล้วแต่กรณี
(4) วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชี
(5) เหตุผลและความจำเป็น
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะอนุญาตขยายระยะเวลาหรือไม่ก็ได้ การขยายระยะเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และจะขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้เพียงครั้งเดียว
8. การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเกินกำหนดระยะเวลา
กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบเกินกำหนดระยะเวลา ผู้ยื่นบัญชีต้องชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยจัดทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อตัวและชื่อสกุล ของผู้ยื่นบัญชี
(2) ตำแหน่งที่ยื่น
(3) ยื่นบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกรณีที่ดำรงตำแหน่งครบทุกสามปี แล้วแต่กรณี
(4) วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชี
(5) เหตุผลของการยื่นบัญชีล่าช้า
----------------------------------------------------------------------------------------------
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่... สำนักงาน ป.ป.ช.
เบอร์ติดต่อ 02 – 528 -4800 ติดต่อภายใน 7024 - 26
---------------------------------------------------------------------------------------------
[1] คู่สมรส ให้หมายความรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
จัดทำโดย
ส่วนวินัยและนิติการ สำนักบริหารบุคคล (ข้อมูล)
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) (เผยแพร่บนเว็บไซต์)
กระทรวงการต่างประเทศ
10 กรกฎาคม 2567
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)