อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC)

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 33,179 view

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC)

      เป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้านการต่อต้านการทุจริตในระดับนานาชาติฉบับแรก โดยมีพันธกรณีต่อรัฐภาคีแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ (๑) พันธกรณีที่รัฐภาคีจะต้องปฏิบัติตาม (๒) พันธกรณีที่รัฐภาคีมีสิทธิเลือกที่จะกระทำหรือไม่ก็ได้ และ (๓) พันธกรณีที่รัฐภาคีจะต้องพิจารณา โดยแบ่งเนื้อหาหลักในอนุสัญญา UNCAC ได้ ๕ หมวดหมู่ คือ หมวดการป้องกันการทุจริต หมวดการกำหนดความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย หมวดความร่วมมือระหว่างประเทศ หมวดการติดตามทรัพย์สินคืน และหมวดความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัจจุบัน มีรัฐภาคีรวม ๑๘๖ ประเทศ รวมไทยซึ่งได้ลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UNCAC เมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๒๕๔๖ และวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๔ ตามลำดับ

 

      การประชุมระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญา UNCAC มีการประชุมเป็นระยะเพื่อเสริมสร้างศักยภาพประเทศสมาชิกและความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประกอบด้วย

      ๑. การประชุมรัฐภาคี (Conference of the State Parties) ที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี ครั้งล่าสุดเป็นการประชุมรัฐภาคี UNCAC สมัยที่ ๗ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ – ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

      ๒. การประชุมคณะทำงาน มีทั้งสิ้น ๔ รายการ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ดังนี้

           ๒.๑ การประชุมคณะทำงานว่าด้วยการป้องกันการทุจริต หรือ “Working Group on Prevention” เป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การดำเนินการในปัจจุบันของรัฐภาคีในการป้องกันการทุจริต รวมถึงการนำข้อแนะนำในข้อมติต่าง ๆ จากที่ประชุมรัฐภาคี UNCAC ไปปฏิบัติ

           ๒.๒ การประชุมคณะทำงานว่าด้วยการติดตามทรัพย์สินคืน หรือ “Working Group on Asset Recovery” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ร้องขอความร่วมมือในการดำเนินการติดตามและริบทรัพย์สินคืน กับประเทศผู้รับการร้องขอ

           ๒.๓ การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ “Expert Meeting on International Cooperation” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถตามความต้องการของรัฐภาคี

           ๒.๔ การประชุมกลุ่มทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC หรือ “Implementation Review Group” (IRG) เพื่อติดตามความคืบหน้าของรัฐภาคีในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ โดยมีกลไกการทบทวนเป็นการเฉพาะ

      ๓. ในปี ๒๕๖๑ ได้มีการจัดการประชุมในหัวข้อ “การป้องกันการทุจริตในกีฬา” (Safeguarding Sport from Corruption Conference) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ – ๖ มิ.ย. ๒๕๖๑ ณ กรุงเวียนนา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องมาจากข้อมติที่ประชุมรัฐภาคี UNCAC ที่ ๗/๘ เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรับรองข้อมติเรื่องการทุจริตในวงการกีฬาเป็นการเฉพาะ

      กลไกการทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC

      UNCAC มีกลไกทบทวน (Review Mechanism) เพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ของรัฐภาคี โดยมีการทบทวนในลักษณะจัดสรรรัฐผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินโดยการจับสลาก และมีสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะผู้ประเมิน โดยมีผู้เชี่ยวชาญของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประเมินดำเนินการประเมินในนามของประเทศตน การประเมินแต่ละวงรอบมีระยะเวลา ๖ ปี ดังนี้

      ๑. การประเมินรอบที่ ๑ ระหว่างปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๘ ประเมินผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หมวดที่ ๓ เรื่องการกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย (Criminalization and Law Enforcement) และหมวดที่ ๔ เรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation)

      ๒. การประเมินรอบที่ ๒ ระหว่างปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔ ประเมินผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หมวดที่ ๒ เรื่องมาตรการป้องกัน (Preventive Measures) และหมวดที่ ๕ เรื่องการติดตามทรัพย์สินคืน (Asset Recovery)

      การดำเนินการของไทย

      ๑. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานหลักของไทยในการอนุวัติกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UNCAC โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามอนุสัญญาดังกล่าว

           ในฐานะรัฐภาคี ไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาให้ได้ครบถ้วน โดยมีการแก้ไขร่างกฎหมายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับ อนุสัญญา UNCAC ได้แก่ (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑  (๒) พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐ (๒) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (๔) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พ.ศ. ...

      ๒. บทบาทของไทยในการประเมินรอบที่ ๑

           ๒.๑ ในฐานะรัฐผู้ประเมิน ไทยได้รับมอบหมายให้ประเมิน ๒ ประเทศ คือ ๑) เซียร์ราเลโอน (ร่วมประเมินกับเบนิน) และ ๒) เมียนมา (ร่วมประเมินกับบุรุนดี)

           ๒.๒ ในฐานะรัฐผู้ถูกประเมิน ไทยได้รับการประเมินโดยบาห์เรนและเนปาล โดยไทยได้เผยแพร่บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ผลการประเมิน ในการประชุม IRG สมัยที่ ๗ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๖ พ.ย. ๒๕๕๙ และได้มีการรับรองรายงานการประเมิน (Country Report) แล้ว

     ๓. บทบาทของไทยในการประเมินรอบที่ ๒

         ๓.๑ ในฐานะรัฐผู้ประเมิน ไทยได้รับมอบหมายให้ประเมินกัมพูชาร่วมกับราชอาณาจักรเอสวาตินี

         ๓.๒ ในฐานะรัฐผู้ถูกประเมิน ไทยได้รับการประเมินโดยสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และราชอาณาจักรภูฏาน โดยรัฐผู้ประเมินมีกำหนดการเยือนไทยในเดือนกันยายน ๒๕๖๑

-------------------------------------

ที่มาของข้อมูล

(๑)    กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

(๒)    เวบไซต์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

https://www.nacc.go.th/ewt_news.php?nid=3822&filename=index

(๓)    เวบไซต์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) https://www.unodc.org/unodc/en/corruption/uncac.html