สรุปการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ปลุกพลังคนไทย สู้โกง"

สรุปการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ปลุกพลังคนไทย สู้โกง"

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,093 view

สรุปการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ปลุกพลังคนไทย สู้โกง”

โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี

ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ๒๕๖๑ “คนไทย...ตื่นรู้สู้โกง”

วันพฤหัสบดีที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๙:๓๐ – ๑๐:๐๐ น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในระหว่างงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน ๒๕๖๑” ภายใต้แนวคิด “คนไทย ตื่นรู้สู้โกง” สรุปสาระสำคัญดังนี้

๑. การพัฒนาในช่วงทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ เป็นยุคของความรวดเร็ว ดิจิตอลเทคโนโลยีมีบทบาท ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวด้านความรู้ เทคโนโลยี การค้าขาย การเงินการคลัง ที่ต้องอาศัยความรวดเร็วและปัญญาด้วย ดังนั้น หากเรามาเสียเวลาเรื่องคอร์รัปชัน จะสู้ประเทศอื่นไม่ได้

๒. ความรู้ และความไม่มีธรรมะในใจทำให้คนโกง คนรู้น้อยโกงไม่คล่อง หากรู้มากโกงพิสดารขึ้น การที่มีนักการเมือง ข้าราชการโกง ความเสียหายไม่ได้อยู่เฉพาะที่จำนวนเงินที่โกง แต่จะดึงดูดเฉพาะพ่อค้าต่างชาติที่โกงด้วย โดยนักลงทุนที่มีความซื่อสัตย์จะไปตั้งสำนักงานในประเทศที่มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาแทน สิ่งสำคัญคือการสร้างธรรมะในใจ สร้างสำนึกตั้งแต่เด็ก การมีหิริโอตตัปปะ (ความละอายต่อบาป) และการนำความรู้ไปใช้ในทางที่ชอบเพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเดือดร้อน

๓. พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ต่อมา คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เมื่อปี ๒๕๐๓ ความว่า “ครูอาจารย์ไม่ได้สอนความรู้อย่างเดียว แต่ต้องอบรมฝึกจิตใจผู้เรียนให้ซึมทราบเป็นนิสัยด้วย” ครู อาจารย์ มีหน้าที่ “สอน” กับ “อบรม” ซึ่งแตกต่างกัน มีคำว่า “อบรมสั่งสอน” และในส่วนพ่อแม่ มีหน้าที่สองอย่างเช่นกัน คือ “อบรม” กับ “เลี้ยงดู” หากเปรียบกับต้นไม้เป็นการเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เป็นต้นกล้าเล็ก ๆ สิ่งที่ปรากฏอยู่เหนือดิน คือลำต้น กิ่งก้านสาขา ดอกใบ ผล เทียบกับการสอนทักษะชีวิต ความรู้พื้นฐาน ความรู้เฉพาะทาง แต่อีกส่วนที่อยู่ใต้ดิน คือ ส่วนรากที่จะต้องมั่นคง ซึ่งต้องมาจากการอบรม ศีลธรรม จรรยา มารยาท ความรับผิดชอบในหน้าที่ พลเมืองดี นอกจากนี้ ในที่ทำงานผู้บังคับบัญชาควรอบรมลูกน้องด้วยเหมือนกัน

๔. ในวารสารมูลนิธิชัยพัฒนาเมื่อปี ๒๕๕๗ ระบุว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้รับสั่งว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงยึดมั่นในหน้าที่ โดยหน้าที่มี ๒ ประเภท คือ หน้าที่ส่วนพระองค์ในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ในการดูแลราษฎร กับ หน้าที่การเป็นพลเมืองดีของประเทศไทย การเป็นพลเมืองดี คือ เห็นอะไรจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ” ดังนั้น พวกเราทุกคนก็มีหน้าที่เหมือนกัน เช่น หน้าที่ในครอบครัว หน้าที่ในที่ทำงาน และหน้าที่ร่วมของคนไทย ๖๗ ล้านคน คือ ต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี เห็นอะไรจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ ดังนั้น ครูอาจารย์ควรสอนลูกศิษย์ตั้งแต่เด็ก ๆ ในการทำหน้าที่พลเมืองดีของประเทศไทย

๕. เมื่อปี ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานทุนการศึกษาเพื่อให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง ในช่วงปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ บ้านเมืองแบ่งเป็นพรรคเป็นฝ่าย พระองค์ประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ขอให้คนไทยเริ่มต้นใหม่ สร้างคนดีตั้งแต่เด็ก ๆ อย่าเปิดโอกาสให้โกง พื้นฐานพระราชดำริ คือ เด็ก ๆ นอกจากต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงาน และหัดทำความดีด้วย การทำงานจะช่วยให้เด็กมีความสามารถมีความขยันอดทนพึ่งตนเองได้ ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไม่เน้นการทำงาน เน้นที่เรียนความรู้ เรียนหนังสือในชั้น นอกชั้นเป็นกวดวิชา ซึ่งทำให้เด็กทำอะไรไม่เป็น ลำบากไม่เป็น กลายเป็นเด็กรุ่นใหม่อยากได้อะไรสบาย ๆ ไม่ต้องทำงานหนัก เป็นกระแสที่ผิด ต้องเปลี่ยนให้เด็กกลับมาทำงานตั้งแต่เด็ก ทำดีช่วยให้มีความสุขความเจริญ ป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ

๖. การให้ความรู้ เป็นโรงเรียนคุณภาพ การให้ทำความดี เป็นโรงเรียนคุณธรรม มีอาสาสมัครมาช่วยทำให้ ๑๕๐ กว่าโรงเรียน เป็นทั้งโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนคุณธรรมด้วย หลักการที่สำคัญมี ๓ ข้อ ๑. ครูต้องรักนักเรียน นักเรียนต้องรักเคารพครู ๒. ครูต้องสอนเด็กให้มีน้ำใจแก่เพื่อน เช่น เด็กที่เก่งติวเพื่อนที่เรียนช้า ทุกคนควรแข่งกับตัวเอง ๓. ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กทำเป็นหมู่คณะ จะได้เห็นคุณค่าของความสามัคคี โรงเรียนคุณธรรม คือ โรงเรียนสร้างคนดี ผู้บริหารเสียสละเพื่อโรงเรียน ครูอาจารย์เป็นคนดีมีคุณธรรม สอนอบรมลูกศิษย์ สร้างสิ่งแวดล้อมความดีงาม ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โรงเรียนสามานย์ เป็นโรงเรียนที่ผู้บริหารทำเพื่อตนเอง ครูอาจารย์ทำร้ายลูกศิษย์ เด็กจะได้แต่สิ่งชั่วร้ายจากโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการต้องประเมินใหม่ครู ผู้บริหารโรงเรียนที่ทำชั่วทำผิด จะลงโทษเหมือนคนธรรมดาไม่ได้ เพราะ status สูง รับผิดชอบอนาคตของประเทศ

๗. นักธุรกิจคุณธรรม ทำกำไรภายใต้กรอบกฎหมาย ศีลธรรม บ้านเมือง สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ บริษัทได้กำไร เปรียบเหมือนผึ้ง กินน้ำหวาน ผสมเกสรให้ดอกข้าวโพด พอจากไปข้าวโพดออกฝัก ส่วนที่ตรงข้ามคือ บริษัทสามานย์ ต้องการ make maximum profit ทำร้ายและทำลายบ้านเมือง เหมือนตั๊กแตนลงนาข้าวโพด กินข้าวโพดหมด พอยกขบวนไป เหลือแต่ซากข้าวโพด

๘. ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้แปลความหมายของคำว่า “integrity” หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องเที่ยงธรรม หัวใจระบบการศึกษาอังกฤษ ทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้มีจิตใจซื่อสัตย์สุจริต ปฏิเสธความชั่ว การโกง ปฏิบัติตามกติกา ไม่ว่าจะเล่นกีฬาหรืออะไรก็ตาม ยึดมั่นในความถูกต้อง มีน้ำใจนักกีฬา คิดถึงใจคนอื่น เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น และรู้จักไว้วางใจระบบ ไว้ใจคนอื่น ชีวิตจะมีความสุข

๙. ปัจฉิมบรมราโชวาทของรัชกาลที่ ๙ คือ “ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำก็จะมีแต่ความพินาศ” การต่อต้านการโกงเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำ ชักชวนให้ถือเป็นหน้าที่เช่นกัน

๑๐. เมื่อต้นปีที่แล้ว รัชกาลที่ ๑๐ ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้าเฝ้า มีพระราชประสงค์ให้เด็กมีพื้นฐานที่ดี ได้แก่ ๑. รู้จักบ้านเมือง ๒. แยกถูกผิด ดีชั่ว ยึดมั่นในความดี ปฏิเสธความชั่ว ๓. ทำงานเป็นตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เป็นอาชีพ ๔. เป็นพลเมืองดี

๑๑. โดยสรุป การเตรียมประเทศชาติไปสู่อนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยผ่านการทดสอบมาเยอะมาก โดยเฉพาะในช่วง ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา บัดนี้ การทดสอบมาอยู่ที่พวกเรา จะสร้างชาติอย่างไรให้คนไทยรุ่นต่อไปโกงน้อยลง มีน้ำใจต่อส่วนรวม อยู่ที่เรา การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยากและยาวแต่ก็ต้องทำ แต่ขอให้ถือเป็นหน้าที่

 

* * * * * * * * * * * * * * *