สินน้ำใจ: มหันตภัยของชาติ

สินน้ำใจ: มหันตภัยของชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,605 view

          จากการสืบค้นความหมายของ “สินบน” และ “สินน้ำใจ” ในสื่อสาธารณะพบว่า

          สินบน คือ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่ จึงถูกกำหนดเป็นความผิดอาญา แต่ก็หาหลักฐานเอาผิดยากมาก

          ส่วน สินน้ำใจ คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความมีน้ำใจเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นฐานที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้ออื่น ๆ ด้วย เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออาทร ความเสียสละแบ่งปัน ความมีมิตรไมตรี การดูแลกันและกัน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า “สินน้ำใจ” เป็นการให้ตอบแทนบุญคุณที่ได้รับเพื่อสร้างไมตรีและการดูแลซึ่งกันและกัน โดยอาจหวังการเอื้อประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐของผู้รับในอนาคต จึงเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ

          ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเป็นธรรมชาติของ “คน” เมื่อได้รับของขวัญที่ถูกใจก็จะมีความรักใคร่และพึงพอใจผู้ให้ และหาโอกาสตอบแทนบุญคุณ ทำให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ได้รับจากประชาชนตอบแทนซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้อื่นด้วย

          ด้วยเหตุนี้ เติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำจีนในยุคที่สองจึงได้มีวรรคทองเพื่อเตือนสติผู้มีอำนาจรัฐว่า “อย่าตอบแทนบุญคุณส่วนตัวด้วยผลประโยชน์ของประเทศชาติ”    

          มากไปกว่านั้น ถ้ามองในมิติของผู้ให้ เมื่อมีภาระต้องให้มากก็จะต้องแสวงหารายได้มากขึ้น ถ้าผู้ให้เป็นนักธุรกิจก็จะต้องเบียดบังผลกำไรในธุรกิจมาให้เป็นสินน้ำใจ ทำให้งานของรัฐตามสัญญามีคุณภาพด้อยลง ถ้าเป็นข้าราชการผู้น้อยก็ต้องแสวงหาเงินแม้จะเป็นในทางมิชอบ เพื่อหาของขวัญที่ “นาย” ชอบมาให้ ซึ่งส่งผลต่อการคอร์รัปชันโดยตรง

          “ภัย” จากสินน้ำใจนี้ มิได้ระบาดเฉพาะในประเทศไทย ประเทศที่กำลังพัฒนาทุกประเทศก็ประสบกับปัญหานี้ จนทำให้องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ “Transparency International” (TI) ได้จัดเป็นกลุ่ม “ประพฤติมิชอบ” (Misconduct) เป็นการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่งที่ต้อง “ขจัด” ให้หมดไป

          สำหรับมาตรการป้องกันการให้ “สินน้ำใจ” ของประเทศต่าง ๆ มักจะกำหนดมาตรการจำกัดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันคำนวณเป็นเงินได้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมี ๓ แนวคิด คือ

          แนวคิดแรก ไม่ห้ามการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แต่ต้องเปิดเผยการรับประโยชน์ในรอบปีต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ เช่น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นต้น

          แนวคิดที่สอง กำหนดวงเงินที่สามารถรับได้ตามปกติประเพณีนิยม ได้แก่ การแสดงความยินดี การแสดงความเสียใจ และธรรมจรรยา ซึ่งหมายถึงการรับจากญาติตามฐานานุรูป       

          แนวคิดที่สาม ห้ามรับของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ทุกชนิด หรือ “No Gift Policy” ตามหลักคิดที่ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่บริการประชาชนและมีรายได้จากภาษีที่ประชาชนให้แล้ว จึงไม่สมควรรับประโยชน์ใด ๆ อีก

          ประเทศไทยใช้แนวคิดที่สอง โดยบัญญัติไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒๘ (เดิมมาตรา ๑๐๓) ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด ยกเว้น ๓ กรณี คือ

          กรณีแรก ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

          กรณีที่สอง เป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป

          กรณีที่สาม การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๕ (๒) ระบุไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ หากเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท

          “ธรรมจรรยา” ตามประกาศของ ป.ป.ช. หมายถึง “การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากญาติ หรือจากบุคคลที่ให้กันในโอกาสต่าง ๆ โดยปกติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทที่ปฏิบัติกันในสังคม

          “ประโยชน์อื่นใด” หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งใดในลักษณะเดียวกัน

          เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงของ “สินบน สินน้ำใจ” ของระบบราชการไทย พบว่า เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ นิตยสาร Forbes ได้เปิดเผยผลการศึกษาการรับเงินใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเอเชียของ TI เป็นเวลา ๑๘ เดือน พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยรับเงินใต้โต๊ะเป็นอันดับ ๓ (ร้อยละ ๔๑) รองจากอินเดีย (ร้อยละ ๖๙) และเวียดนาม (ร้อยละ ๖๕)

           เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผย “ผลกระทบของสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันไทย ด้านงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๔-๒๕๖๑) สรุปไว้ว่า การลดการเรียกเงินสินบนทุกร้อยละ ๑ ส่งผลให้การคอร์รัปชันลดลง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ถ้าลดสินบนได้ทั้งหมดหรือร้อยละ ๑๐๐ จะส่งผลให้คอร์รัปชันลดลง ๑ ล้านล้านบาท ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า เท่ากับ ๑ ใน ๓ ของงบประมาณประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ จำนวน ๓ ล้านล้านบาท จำนวนเงินมหาศาลของรัฐที่สูญเสียไปนี้สามารถนำไปสร้างความเจริญให้บ้านเมืองได้มากมาย จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยต้องพยายามแก้ไข เพราะสหประชาชาติกำหนดว่า เป็น “อาชญากรรมข้ามชาติ” ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน “ขจัด”

          การลด “สินน้ำใจ” ในวงราชการ จำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยมี “หิริ โอตตัปปะ” หรือ “ละอายชั่ว กลัวบาป” และตระหนักรู้ว่า “เป็นการทำลายชาติ” รวมถึงผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง และปราบสินน้ำใจในองค์กรที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง

* * * * * * * * * * * *

ที่มาของข้อมูล

คัดบางส่วนมาจากบทความโดย พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และประธานอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๓) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ จากเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๕) พ.ศ........ เมื่อวันอังคารที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ