กระทรวงการต่างประเทศจัดการเสวนา APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๔ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองขับเคลื่อนขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ สะท้อนแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

กระทรวงการต่างประเทศจัดการเสวนา APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๔ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองขับเคลื่อนขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ สะท้อนแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 มิ.ย. 2565

| 950 view

เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๔ ในหัวข้อ "Smart City and Connectivity" เพื่อระดมสมองและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในประเด็นเมืองอัจฉริยะ ความเชื่อมโยง และแนวทางการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ โดยมีนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในช่วงแรกของการเสวนา นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย กล่าวถึงบทบาทของไทยในการผลักดันเป้าหมายของเอเปค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ผ่านรูปแบบเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ซึ่งขอนแก่นมีศักยภาพสามารถเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งหมายถึง เมืองที่ “ฉลาด” ทั้งในแง่ของการเป็นอยู่ การทำธุรกิจ และการใช้ทรัพยากร

ผศ. สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ นำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่า เมืองอัจฉริยะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากยุโรปและจีน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการช่วยส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะผ่านการพัฒนาพลเมืองอัจฉริยะ นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ชูศักยภาพของขอนแก่นในการเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม การขนส่งสินค้า การศึกษา ตลอดจนการแพทย์ และเป็นต้นแบบการสร้างเมืองอัจฉริยะทัดเทียมกับนานาประเทศ ผศ. ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัยและการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ นำเสนอผลการวิจัย ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านแบบจำลองธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าให้เศษเหลือของมะม่วงและลดขยะอาหาร นายสง่า สัตนันท์ ผู้จัดการโครงการ สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงความสอดคล้องของการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับแผนการพัฒนาเมืองขอนแก่น โดยเฉพาะในแง่โครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนและเอเปค และนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า ย้ำความสำคัญของภาคประชาสังคมในการสร้างการมีส่วนร่วม ผ่านการประสานงานและสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน

ข้อคิดเห็นและทัศนะจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดต่างสะท้อนถึงความสำคัญของการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ปุตราจายาปี ค.ศ. ๒๐๔๐ (Putrajaya Vision 2040) ของเอเปคให้บรรลุเป้าหมาย โดยการส่งเสริมการเป็นเมืองที่ “ฉลาด” จะต้องอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ในสังคมได้รับการพัฒนาและมี “ความรับผิดชอบ” ไม่ว่าจะเป็นพลเมือง รัฐ โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ของขอนแก่นต่างได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ สำหรับการขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคแล้ว

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ยังได้นำคณะกระทรวงการต่างประเทศและสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ APEC2022 on tour: Khon Kaen นิทรรศการสร้างความตระหนักรู้และประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย รวมทั้งแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น และแสดงผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น จากนั้น คณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟรางเบา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาลัยเขตขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้เกียรติเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการฯ และนำคณะร่วมเยี่ยมชมโครงการระบบรางด้วย

 

28 29   27   30  

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศจัดการเสวนา APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๔ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองขับเคลื่อนขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ สะท้อนแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย - กระทรวงการต่างประเทศ (mfa.go.th)