วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.พ. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ก.พ. 2566
เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับคณะทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนประจำกรุงบรัสเซลส์ (ASEAN Brussels Committee – ABC) ได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ “Advancing ASEAN-EU Strategic Partnership” ที่โรงแรม The Hotel Brussels โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศ ผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานสหภาพยุโรป (อียู) ตลอดจนผู้แทนจากภาคเอกชนและวิชาการกว่า ๗๐ คนเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและหารือแนวทางส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอียู รวมทั้งความร่วมมือในกรอบอินโดแปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโอกาสที่ปีนี้อาเซียนและอียูเฉลิมฉลองครบรอบ ๔๕ ปีความสัมพันธ์ และจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียูครั้งแรกในกรุงบรัสเซลส์ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕
นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทย ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียูกำลังมีพลวัตสูงและขยายครอบคลุมหลากหลายมิติท่ามกลางบริบทภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน และได้ยกตัวอย่างบทบาทสำคัญของไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-อียู เช่น ไทยเป็นผู้ประสานงานหลักของอาเซียนสำหรับกรอบการหารือASEAN-EU Sustainable Development Dialogue และศูนย์ ASEAN Center for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับอียูในการจัดตั้ง ASEAN Circular Economy Stakeholder Platform เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในอาเซียน
นายนง สากาล (Nong Sakal) เอกอัครราชทูตกัมพูชา ในฐานะประธานคณะทูตอาเซียนประจำกรุงบรัสเซลส์ (ABC) และในฐานะที่กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๕ ได้กล่าวเปิดงานว่า จุดเน้นสำคัญของการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาคือการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน รวมทั้งกับมิตรประเทศในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน ภายใต้ธีม “ASEAN ACT: Addressing Challenges Together” โดยกัมพูชาได้เชิญนายชาร์ล มิเชล ประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป เป็นแขกของประธานอาเซียน กล่าวสุนทรพจน์เรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานในการประชุม East Asia Summit ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายนนี้
งานเสวนาโต๊ะกลมฯ แบ่งออกเป็น ๓ ช่วงเพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือสำคัญระหว่างอาเซียนกับอียู โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นผู้ดำเนินรายการและมีผู้แทนระดับสูงของฝ่ายอียูร่วมเป็นผู้เสวนาหลัก ดังนี้
เอกอัครราชทูตไทยเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เสวนาหลักประกอบด้วยนาง Myriam Ferran รองปลัดกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ (DG INTPA) คณะกรรมาธิการยุโรป และนาย Edvardas Bumsteinas ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank)
เอกอัครราชทูตมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เสวนาหลักประกอบด้วยนาง Barbara Plinkert ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (EEAS) และนาย Harvey Rouse หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงคมนาคม (DG MOVE) คณะกรรมาธิการยุโรปด้านคมนาคม
เอกอัครราชทูตเวียดนามเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เสวนาหลักประกอบด้วยนาง Dora Correia ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคแอฟริกา แคริบเบียนและแปซิฟิก เอเชีย การค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์สีเขียวของยุโรป กระทรวงการค้า (DG TRADE) คณะกรรมาธิการยุโรป และนาง Outi Slotboom ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และการวิเคราะห์เศรษฐกิจ กระทรวงตลาดภายในและอุตสาหกรรม (DG GROW) คณะกรรมาธิการยุโรป
คณะทูตอาเซียนและผู้แทนจากฝ่ายอียูได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะกันอย่างกว้างขวาง สรุปสาระสำคัญของการหารือได้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ EU Global Gateway ซึ่งประกาศเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ มุ่งเพิ่มบทบาทของอียูในการเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวผ่านกลไกTeam Europe ที่เป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของอียู รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank -EIB) ซึ่งเพิ่งเปิดสำนักงานใหม่ที่กรุงจาร์กาตา โดย EIB เคยร่วมสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงฮานอย และสนใจเข้าช่วยขยายระบบขนส่งในกรุงจาการ์ตาความน่าสนใจของ EIB คือเป็นธนาคารที่ให้การสนับสนุนทั้งในเชิงเทคนิคและเงินทุน นอกจากนี้ อาเซียนและอียูได้ร่วมดำเนินความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายโครงการ เช่น โครงการ Smart Green ASEAN Cities โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน อียูและอาเซียนยังมีแผนที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับโลก และความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) โดยฝ่ายอียูไม่เพียงสนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการสนับสนุนทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่มุ่งช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่มีต่อบุคคลและอุตสาหกรรมบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่วยสร้างงานและช่วยสนับสนุนการปรับปรุงกฎระเบียบให้อาเซียนสามารถยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจสีเขียวได้ต่อไป
อาเซียนและอียูประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเสรีทางการบิน(ASEAN-EU Comprehensive Air Transport Agreement: CATA) ซึ่งมีกำหนดลงนามในกลางเดือนตุลาคมนี้ โดย CATA ถือเป็นความตกลงทางการบินระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาคฉบับแรกของโลกที่จะช่วยให้มีการขยายตัวของการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างอาเซียนกับอียู นอกจากนี้ อาเซียนและอียูจะเน้นส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล (Digital Connectivity) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชาชน การพัฒนา smart cities รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคขนส่ง โดยอียูสามารถแบ่งปันประสบการณ์กับอาเซียนเรื่องการเชื่อมโยงระบบรางรถไฟข้ามประเทศ และการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้ เป็นต้น
อาเซียนกับอียูมีการหารือเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสองภูมิภาค (ASEAN-EU FTA) ควบคู่ไปกับการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างอียูกับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน (อียูมีความตกลง FTA กับสิงคโปร์และเวียดนามแล้ว และอยู่ระหว่างเจรจาหารือกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทย) นอกจากนี้ อียูและอาเซียนยังเริ่มมีการหารือความร่วมมือในประเด็นเฉพาะมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประเด็นท้าทายเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที โดยในชั้นนี้มีพัฒนาที่น่าสนใจในระดับทวิภาคีว่า อียูกับสิงคโปร์อยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำความเป็นหุ้นส่วนทางดิจิทัล (digital partnership) ระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ฝ่ายอาเซียนแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับนโยบายของอียูในการตั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงซึ่งเป็นเสมือนอุปสรรคทางการค้า และเน้นย้ำให้คำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ที่ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย
ผู้เข้าร่วมงานเสวนาโต๊ะกลมต่างเห็นพ้องว่า หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอียูนับวันจะยิ่งมีความสำคัญขึ้น ภายใต้บริบทภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันที่ตึงเครียดจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยอียูเองก็มีนโยบายที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ EU Indo-Pacific Strategy และเล็งเห็นอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชีย และเห็นพ้องว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปในบริบทปัจจุบัน และสู่อนาคตในวาระ ๔๕ ปีแห่งความสัมพันธ์
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)