การดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2565

การดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 เม.ย. 2566

| 2,419 view

การดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2565

ขั้นตอนการดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของกระทรวงการต่างประเทศ

  1. การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของกระทรวงการต่างประเทศ

          1.1 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 1/2564 ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และมีมติในเบื้องต้นให้หน่วยงานทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริตจากข้อมูลเรื่องร้องเรียนการทุจริตของหน่วยงาน และจากการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบภายในและภายนอกถึงการทุจริตที่เคยเกิดขึ้น เพื่อให้มีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำอีกในอนาคต

          1.2 สืบเนื่องจากมติของที่ประชุมดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ศปท. จึงได้เข้าหารือกับกลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และได้ข้อสรุปที่จะจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตในด้านที่ 2 การใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ ในกระบวนงานการจัดเก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา กรณีรับชำระเงินด้วยเงินสด (ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงการทุจริตจากข้อมูลเรื่องร้องเรียนการทุจริตของหน่วยงาน และจากการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบภายในที่เคยเกิดขึ้น โดยมีกรอบแนวทางจากกรณีศึกษาเหตุการณ์การทุจริตเงินหลวงที่ สอท. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง ปี พ.ศ. 2552 อันเป็นผลให้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท84/2562 และคดีหมายเลขแดงที่ อท81/2563 เกี่ยวกับการทุจริตนำเงินรายได้แผ่นดินและเงินงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว)    

          1.3 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้จัดประชุมชี้แจงคู่มือแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้กับทุกหน่วยงานในภาครัฐ และได้กำหนดหัวข้อการประเมินความเสี่ยงการทุจริตให้ทุกหน่วยงานนำไปพิจารณาดำเนินการ โดยในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และกรมการกงสุลพิจารณาประเมินความเสี่ยงการทุจริตในด้านที่ 3 (โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินสูงสุด) และด้านที่ 1 (การพิจารณาอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กรณีที่หน่วยงานไม่สามารถดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามกระบวนงาน/โครงการตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนด หน่วยงานสามารถทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ตามความเหมาะสมของหน่วยงานได้ ทั้งนี้ ให้ระบุเหตุผลประกอบไว้ด้วย

1.4 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศปท. จึงได้เสนอแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณา ซึ่งกระทรวงฯ ได้เห็นชอบให้กรมการกงสุลประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามแนวทางที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนด แต่ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ กระทรวงการต่างประเทศได้เห็นชอบให้กลุ่มตรวจสอบภายในจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตในด้านที่ 2 การใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ป.ท. ที่ได้แจ้งผลการวิเคราะห์แผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกระทรวงฯ ว่า “สำหรับในปีงบประมาณถัดไป หน่วยงานควรเลือกกระบวนงาน/โครงการที่มีความเสี่ยง หรืออาจนำข้อมูลเรื่องร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบ ผลประโยชน์ทับซ้อน มาทำการประเมินความเสี่ยงเพื่อควบคุมหรือป้องกัน ลดโอกาสการทุจริตขององค์กร” และเป็นไปตามผลการหารือระหว่าง ศปท. กับกลุ่มตรวจสอบภายใน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 รายละเอียดปรากฏตามบันทึก ศปท. ที่ 0200.10/164/2564 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

  1. การดำเนินการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2565

        2.1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ศปท. ได้ประสานให้กลุ่มตรวจสอบภายใน พิจารณาดำเนินการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตตามที่ได้มีการหารือกัน และต่อมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 กระทรวงการต่างประเทศฯ โดย ศปท. ได้เวียนแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตในด้านที่ ๒ การใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ ในกระบวนงานการจัดเก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา กรณีรับชำระเงินด้วยเงินสด ของกลุ่มตรวจสอบภายใน ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในต่างประเทศ (สถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรฯ สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย) ทราบและพิจารณาดำเนินการตามมาตรการควบคุมความเสี่ยงการทุจริตในขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน ได้ประสานให้กรมการกงสุลพิจารณาจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

          2.2 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 กรมการกงสุลได้ประสานมายัง ศปท. และได้ข้อสรุปที่จะคัดเลือกงานของกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าวเพื่อมายกร่างและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนงานการรับคำร้องขอตรวจลงตรา เรื่อง “การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริการตรวจลงตราเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และสร้างความโปร่งใสในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา”

          2.3 ศปท. ได้รวบรวมและเรียนเสนอแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตของกลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ภารกิจงานการจัดเก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา กรณีรับชำระเงินด้วยเงินสด) และกรมการกงสุล (กระบวนงานการรับคำร้องขอตรวจลงตรา เรื่อง “การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริการตรวจลงตราเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และสร้างความโปร่งใสในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา”) ต่อกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อกระทรวงฯ ให้ความเห็นชอบการจัดส่งแผนบริหารความเสี่ยงดังกล่าวให้กับสำนักงาน ป.ป.ท. ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง ศปท. ได้ดำเนินการจัดส่งแผนบริหารความเสี่ยงดังกล่าวให้กับสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565

  1. การดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตของกระทรวงการต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565

        ตามนัยบันทึกของ ศปท. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 และจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้กลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล ดำเนินการ ดังนี้

        3.1 ขับเคลื่อนแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นชอบ โดยกำหนดมาตรการ/กิจกรรม/แนวทางในการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนงานดังกล่าว

        3.2 กำกับติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนงานดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนดให้ส่วนราชการนำส่ง “ผลการดำเนินงาน” ตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

  1. การกำกับติดตามและรายงานผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต

        กลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล ดำเนินการขับเคลื่อนแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตของกระทรวงการต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตลอดจนกำกับติดตามและรายงานผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการ/กิจกรรม/แนวทางที่กำหนด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแบบฟอร์มรายงานผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต

  1. ผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต (กำหนดรายงานผลภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565)

        5.1 แบบรายงานผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต
                   แบบรายงานผลการดำเนินการฯ กลุ่มตรวจสอบภายใน
                   แบบรายงานผลการดำเนินการฯ กรมการกงสุล

        5.2 สรุปรายงานผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต
                   สรุปรายงานผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต กลุ่มตรวจสอบภายใน
                   สรุปรายงานผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต กรมการกงสุล